งานวิจัย กลุ่มอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals)

ข้อมูลงานวิจัยอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals Research)

งานวิจัยส่วนท้องถิ่น
อุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ (Biopharmaceuticals)
สายใจ แก้วอ่อน และอาอีเซาะส์ เบ็ญหาวัน
ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของสารสกัดดาหลา (Etlingera elatior L.) ต่อแบคทีเรียก่อโรคในพืช Antibacterial Activity of Torch Ginger (Etlingera elatior L.) Extract on Plant Pathogens
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากิจกรรมการยับยั้งแบคทีเรียของสารสกัดจากดาหลา จำนวน 5 ส่วน ได้แก่ ส่วนราก เหง้า ดอก ลำต้น และใบ สกัดโดยการหมักด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ 5 ชนิดคือ เฮกเซน ไดคลอโรมีเทน อะซิโตน เมทานอล และเอทานอลต่อแบคทีเรียก่อโรคในพืชจำนวน 2 ชนิด ได้แก่ Pectobacterium carotovorum และ Xanthomonas campestris pv. Campestris การทดสอบใช้วิธี agar well diffusion การหาค่าความเข้มข้นต่ำสุด (MIC) ที่ยับยั้งแบคทีเรียทดสอบ และความเข้มข้นของสารสกัดที่ฆ่าแบคทีเรียทดสอบ (MBC) ได้ เบื้องต้นพบว่าสารสกัดหยาบที่ออกฤทธิ์ได้ดี ได้แก่ ดอกในเฮกเซน แสดงโซนยับยั้ง P. carotovorum และ X. campestris pv. campestris เท่ากับ 14.32 มิลลิเมตร และ 12.98 มิลลิเมตร ตามลำดับ ในขณะที่ใบในเมทานอล แสดงโซนยับยั้ง P. carotovorum และ X. campestris pv. campestris เท่ากับ 12.56 มิลลิเมตร และ 12.97 มิลลิเมตร ตามลำดับ เมื่อทดสอบหาความเข้มข้นต่ำสุดของสารสกัดที่สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย พบว่ายับยั้งการเจริญของ P. carotovorum สูงที่สุดเมื่อใช้สารสกัดจากดอกในอะซิโตน แสดงค่า MIC เท่ากับ 0.78 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ถัดไปคือสารสกัดลำต้น ใบ เหง้าในอะซิโตน และเหง้าในเอทานอล มีค่า MIC เท่ากับ 12.56 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร สำหรับฤทธิ์ต้าน X. campestris pv. Campestris โดยสารสกัดจากดาหลาโดยรวมมีฤทธิ์ต่ำกว่า P. carotovorum โดยใบในอะซิโตน และรากในเอทานอล แสดงค่า MIC เท่ากับ 25 และ 50 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ นอกจากนั้นพบว่าสารสกัดหยาบดอก ลำต้นและเหง้าในอะซิโตน รวมถึงเหง้าในเอทานอลแสดงค่า MBC ระหว่าง 100-200 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ส่วนฤทธิ์การฆ่า X. campestris pv. campestris จากเหง้า และรากในเอทานอลมีค่า MBC ระหว่าง 200 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ทั้งนี้จากการตรวจสอบโดยวิธีการทางพฤกษเคมีเบื้องต้น คาดว่าฤทธิ์การยับยั้งของสารสกัดมาจากสารสกัดในกลุ่มกลัยโคไซด์ อัลคาลอยด์ ฟลาโวนอยด์ ฟีนอล เทอร์พีนอยด์ แทนนิน และซาปอนิน และเมื่อนำสารสกัดหยาบอะซิโตนและเมทานอลของส่วนใบมาแยกให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีคอลัมน์โครมาโทกราฟฟี และวิเคราะห์ด้วยวิธีรงคเลขผิวบางพบสารฟลาโวนอยด์เป็นองค์ประกอบ
2559