งานวิจัย กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics)

ข้อมูลงานวิจัยอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics Research)

งานวิจัยส่วนกลาง
อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics)
ภัคจิรัตน์ สิงหะบุตร, พรรณี อภิวันท์, ผกากรอง ปั้นทอง และภัทรพงษ์ เกริกสกุล
การผลิตพลาสติกชีวภาพจากกล้วยโดยแบคทีเรียที่คัดแยกได้จากดิน
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิไฮดรอกซีอัลคาโนเอต (Polyhydroxyalkanoates; PHAs) ด้วยแบคทีเรียที่คัดแยกได้จากตัวอย่างดินจังหวัดนครนายกและจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยใช้กล้วยสุกงอม 3 ชนิด ได้แก่ กล้วยไข่ กล้วยหอม และกล้วยน้ำว้า เป็นแหล่งคาร์บอนสำหรับการเจริญของจุลินทรีย์ จากตัวอย่างดินสามารถคัดแยกและจำแนกแบคทีเรียที่ผลิต PHAs ได้ทั้งหมด 16 สายพันธุ์ โดยแบคทีเรียที่คัดแยกได้รหัส N22-3 มีปริมาณร้อยละของการสะสม PHAs สูงที่สุดคือ 30.10±0.25% ในอาหารที่มีการเติมน้ำกล้วยไข่ จากการตรวจสอบลักษณะทางสัณฐานวิทยาพบว่าแบคทีเรียซึ่งคัดแยกได้รหัส N22-3 เป็นแบคทีเรียแกรมลบ และจำแนกสายพันธุ์โดยวิธี 16S rRNA พบว่ามีความเหมือน 99.85% กับแบคทีเรียสายพันธุ์ Klebsiella pneumoniae เมื่อตรวจสอบโครงสร้างของแผ่นฟิล์มที่ผลิตได้พบว่ามีโครงสร้างคล้ายกับสารพอลิเมอร์ชีวภาพมาตรฐานชนิดพอลิไฮดรอกซีบิวไทเรต (polyhydroxybutyrate; PHB)
2564