ข่าวสารเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมชีวภาพ

สธ. ออกคู่มือการใช้ยาสมุนไพรใน 6 กลุ่มโรคเตรียมประกาศใช้ มี.ค. 68

กรมการแพทย์เดินหน้าบูรณาการศาสตร์การแพทย์แผนไทยร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยผลักดันคู่มือการใช้ยาสมุนไพรในเวชปฏิบัติสำหรับ 6 กลุ่มโรค คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมีนาคม 2568 เพื่อเสริมความมั่นใจให้แพทย์แผนปัจจุบันในการสั่งจ่ายยาสมุนไพรอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านบริการสุขภาพระดับสากล
กรมการแพทย์เดินหน้าส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพ หวังยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพระดับโลก 9 มีนาคม 2568 – นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานตามนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งผลักดันการใช้ยาสมุนไพรไทยให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพ โดยบูรณาการร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐาน ความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างกรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีเป้าหมายหลักในการขยายการใช้ยาสมุนไพรไทยที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พร้อมทั้งยกระดับบริการด้านการแพทย์แผนไทยให้ได้มาตรฐาน ผ่านการดำเนินงานของคณะกรรมการบูรณาการและส่งเสริมการแพทย์แผนไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กรมการแพทย์ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแนวทางการใช้ยาแผนไทยในบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญใน 6 กลุ่มโรค/อาการ เพื่อให้แพทย์แผนปัจจุบันมีความมั่นใจในการใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาคู่มือการใช้ยาสมุนไพรในเวชปฏิบัติ คาดว่าจะประกาศใช้ภายในเดือนมีนาคม 2568 ครอบคลุม 6 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มอาการระบบทางเดินอาหาร – ขมิ้นชัน ขิง เพชรสังฆาต กลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจ – ปราบชมพูทวีป ฟ้าทะลายโจร ประสะมะแว้ง มะขามป้อม กลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก – เถาวัลย์เปรียง ไพล เจลพริก ยาประคบ ขมิ้นชัน ยาสหัสธารา กลุ่มโรคมะเร็ง – ว่านหางจระเข้ (ใช้ลดอาการแสบคันจากการฉายรังสี) กลุ่มอาการสมองและระบบประสาท – CBD enriched, CBD:THC 1:1, เจลพริก, มณีเวช กลุ่มอาการทางระบบผิวหนัง – ว่านหางจระเข้ พญายอ ขมิ้นชัน ขณะเดียวกัน ยังมีสมุนไพรบางชนิดที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเพื่อเสริมหลักฐานเชิงประจักษ์เพิ่มเติม เช่น ยาธาตุอบเชยและยากล้วยสำหรับรักษาอาการระบบทางเดินอาหาร รวมถึงเปลือกมังคุดสำหรับอาการทางผิวหนัง เมื่อร่างคู่มือดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ จะนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณา หากได้รับความเห็นชอบ แพทย์แผนปัจจุบันจะสามารถใช้ยาสมุนไพรตามแนวทางที่กำหนดได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังมีแผนสนับสนุนงบประมาณจาก สปสช. จำนวน 1,500 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินงานเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบสุขภาพของประเทศ
thansettakij