ห่วงโซ่คุณค่าของพืชที่สำคัญ

ห่วงโซ่คุณค่าของพืชที่สำคัญ


การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของพืชเศรษฐกิจนำร่องสำคัญของไทย


ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) : มันสำปะหลัง


>
มันสำปะหลังเป็นพืชอาหารที่สำคัญของประเทศในเขตร้อน โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชียบางประทศ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ เนื่องจากเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญของคนและสัตว์ ซึ่งเป็นพืชอาหารในอันดับที่ 5 ของโลก รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว และมันฝรั่ง (ข้อมูลจากภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร ม.เกษตร, 2547) สำหรับประเทศไทยมันสำปะหลังถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก เพราะทนแล้ง ปลูกง่าย ศัตรูพืชน้อย แหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา กำแพงเพชร ชัยภูมิ กาญจนบุรี อุบลราชธานี สระแก้ว นครสวรรค์ เลย อุดรธานี และลพบุรี (ข้อมูลปี 2560 จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) มันสำปะหลังที่ปลูกในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ มันสำปะหลังชนิดหวาน (Sweet type) และมันสำปะหลังชนิดขม (Bitter type) สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งบริโภคเป็นอาหารโดยตรง และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง ได้แก่ มันเส้น (Tapioca chips) มันอัดเม็ด (Tapioca pellets) และแป้งมันสำปะหลัง (Tapioca starch) สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมต่าง ๆ ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญของโลก แต่นำมาใช้ในการบริโภคน้อย เพราะส่วนใหญ่นิยมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออก โดยผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังของประเทศไทยเป็นสินค้าส่งออกที่มีความต้องการสูงในตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีปริมาณการส่งออกมากเป็นอันดับ 1 ของโลก การเริ่มเต้นเพาะปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทยยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนว่ามีการนำมันสำปะหลังเข้ามาปลูกช่วงใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเข้ามาในระยะเดียวกันกับการเข้าสู่ประเทศศรีลังกา และฟิลิปปินส์ คือ ประมาณ ปี พ.ศ. 2329-2383 และคาดว่ามีคนนำมันสำปะหลังจากมาลายูมาปลูกในภาคใต้ ประมาณปี พ.ศ. 2329 มันสำปะหลังเดิมเรียกกันว่า มันสำโรง มันไม้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มันต้นเตี้ย ทางภาคใต้เรียกว่า มันเทศ ส่วนคำว่า สำปะหลัง คล้ายกับคำในภาษาชวาตะวันตกที่เรียก มันสำปะหลัง ว่า สัมเปอ (Sampou) ซึ่งมีความหมายว่า พืชที่มีรากขยายใหญ่ (ข้อมูลปี 2560 จากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) การปลูกมันสำปะหลังเป็นการค้าเพื่อใช้ทำแป้งและสาคูในภาคใต้ ซึ่งปลูกระหว่างแถวของต้นยางพารากันมากว่า 70 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันการปลูกมันสำปะหลังทางภาคใต้ลดลงเมื่อมีการขยายการปลูกยางพารา ต่อมามีการปลูกมันสำปะหลังในภาคตะวันออก คือ จังหวัดชลบุรี ระยอง และจังหวัดใกล้เคียง และเมื่อความต้องการของตลาดในด้านผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อใช้ในการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่ในภาคตะวันออกผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีการขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนในปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่ปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดของประเทศไทย มันสำปะหลังเป็นพืชที่ปลูกในเขตร้อน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย ที่มีการระบายน้ำดี ปริมาณธาตุอาหารในดินไม่สูงมาก ความเป็นกรด-ด่างอยู่ระหว่าง 5-6 และไม่เป็นดินเค็ม พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ผลผลิตในแต่ละพื้นที่จึงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน และคุณลักษณะของดินที่ปลูกเป็นสำคัญ (ข้อมูลจากศูนย์สารสนเทศ กรมวิชาการเกษตร) สำหรับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศประมาณ 9,315,012 ไร่ (ข้อมูลปี 2560 จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) สามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกรหลายล้านบาทต่อปี โดยแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ
ด้วยเหตุที่มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมาก ซึ่งจากห่วงโซ่อุปทานของมันสำปะหลังที่ได้กล่าวมาก่อนหน้า รวมถึงประโยชน์ของมันสำปะหลังที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมและชีวิตประจำวันของมนุษย์ การพัฒนาผลิตภัณพ์จากมันสำปะหลัง อุตสาหกรรมการแปรรูปปลายทางที่มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ตลอดจนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านชีวภาพ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จากแป้งมันสำปะหลังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยในปัจจุบันหลายหน่วยได้มีการศึกษาและวิจัยห่วงโซ่คุณค่าของมันสำปะหลัง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์และศัยกภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มของมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง เช่น ในงานวิจัยองค์ประกอบของห่วงโซ่อุปทานและการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังในสาธารณรัฐโมซัมบิก เป็นประเทศที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา (The Casava Value Chain in Mozambique) โดย World Bank พบว่า มันสำปะหลังมีห่วงโซ่คุณค่าที่หลากหลายและมีความเกี่ยวของกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจำนวนมาก ซึ่งผลการวิจัยได้มีการสรุปห่วงโซ่คุณค่ามันสำปะหลังของโลก (Global Casava Value Chain) ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้ • ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังสด อาทิ รากมันสำปะหลังสด (Fresh Casava root) ใบมันสำปะหลัง (Casava Leaves) และมันสำปะหลังแบบเม็ดหรือแผ่นแห้ง (Died Casava Chips) ซึ่งทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นมันสำปะหลังโดยตรง ซึ่งในห่วงโซ่อุปทานนั้น ผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 จะมีการส่งต่อให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ หรือมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไป • ผลิตภัณฑ์จากอนุพันธ์ของมันสำปะหลัง (Casava derivatives) ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปมันสำปะหลังสดเพื่อนำไปใช้เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์อุปโภคและบริโภคในอุตสาหกรรมปลายทาง อาทิ o การนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ (Animal feed) โดยเป็นการนำส่วนประกอบของมันสำปะหลัง อาทิ หัวมัน หรือใบ ไปผ่านกระบวนการตัด บดอัด และปรับปรุงคุณภาพด้านสารอาหารเพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ o การนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแป้ง ซึ่งถือ้เป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างใหญ่และมีปริมาณการผลิตมากในปัจจุบัน โดยการแปรรูปแป้งมันสำปะหลัง เพื่อจำหน่ายทั้งในรูปแบบแป้งมันสะปะหลังดิบ สำหรับใช้ผสมในอาหารหรือยารักษาโรค และแป้งมันสำปะหลังดัดแปร (Modified starch) ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างเชิงโมเลกุลของแป้งมันสำปะหลังให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมตามรูปแบบการใช้งาน ซึ่งจะมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นหลัก o การแปรรูปผ่านกระบวนการทางชีวภาพ โดยอาศัยเทคโนยีทางชีวภาพ (Biotechnology) ในการแปรรูปแป้งมันสำปะหลัง (Starch) ให้เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นกลาง อาทิ เอทานอล (Ethanol) ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญสำหรับนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสุรา (Distillery) หรือพอลิเมอร์ทางชีวภาพอื่น ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลและสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น กลูโคส ซอร์บิทอล เป็นต้น
มันสำปะหลังเป็นสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งโดยเฉลี่ยมันสำปะหลังสามารถนำรายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และมีความผูกพันกับเกษตรกรไม่น้อยกว่า 6 ล้านคนที่มีอาชีพเพาะปลูกมันสำปะหลังซึ่งสามารถผลิตหัวมันสำปะหลังสดได้ประมาณ 20 ล้านตันต่อปีบนพื้นที่เพาะปลูก 10 ล้านไร่ นอกจากนี้เศรษฐกิจมันสำปะหลังยังมีความเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับการเป็นอาหารเพื่อบริโภคในรูปแป้งมัน การผลิตอาหารสัตว์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ชีวภาพอีกจำนวนมาก