ห่วงโซ่คุณค่าของพืชที่สำคัญ

ห่วงโซ่คุณค่าของพืชที่สำคัญ


การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของพืชเศรษฐกิจนำร่องสำคัญของไทย


ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) : กัญชาและกัญชง


>
กัญชาและกัญชงนั้นมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญเหมือนกัน คือ สารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ซึ่งมีสารสำคัญเป็นองค์ประกอบ 2 ชนิด คือ สารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol: CBD) มีฤทธิ์ช่วยลดอาการอักเสบและสารเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol: THC) มีฤทธิ์ต่อ จิตประสาททำให้ผ่อนคลาย ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน และกระตุ้นให้รู้สึกอยากอาหาร เป็นต้น การใช้งานกัญชาในปัจจุบันนั้นมุ่งเน้นใช้งานในทางการแพทย์เป็นหลัก ส่วนของกัญชงนั้นเน้นความสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมได้อย่างหลากหลายและสามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ในฐานะพืชเศรษกิจ ทั้งกัญชาและกัญชง เป็นพืชที่เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยในฐานะพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ได้ไม่นาน จากการปลดล็อคของกฎหมายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2563 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 15 ธันวาคม ปี 2563 เป็นต้นไป ซึ่งยังไม่สามารถปลดล็อคได้ในทุกส่วนของต้นกัญชาและกัญชง ซึ่งส่วนดังกล่าวได้แก่ เมล็ดกัญชา และช่อดอกของกัญชาและกัญชง ซึ่งยังคงจัดเป็นยาเสพติด กัญชาและกัญชง นั้นเป็นพืชที่มีประโยชน์ในทุกส่วนตั้งแต่รากถึงยอด และเป็นพืชที่ได้รับความสนใจไม่เพียงแต่เฉพาะในประเทศไทย ยังได้รับความสนใจในหลายประเทศทั่วโลกอีกด้วย ซึ่งประเทศไทยนั้นเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการประกาศให้ใช้กัญชาในทางการแพทย์และวิจัย และกัญชงในอุตสาหกรรมได้ (วารสารสมาคมนักวิจัย,2564) ปัจจุบันแม้ประเทศไทยมีการปลดล็อคกัญชาและกัญชงในบางส่วนแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการอนุญาตให้ใช้เพื่อการสันทนาการแต่อย่างใด การใช้กัญชาในทางการแพทย์ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้นยังมีการอนุญาตให้ใช้ได้ในอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาเหนือ ในส่วนของการใช้เพื่อกิจกรรมสันทนาการนั้นมีการอนุญาตเพียงบางประเทศเท่านั้น เช่น แคนาดา เนเธอร์แลนด์ มอลตา อุรุกวัย และในบางรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย เป็นต้น
ห่วงโซ่คุณค่าของกัญชาและกัญชง ซึ่งเกิดจากการนำองค์ประกอบต่าง ๆ ของต้นกัญชาและกัญชง มาใช้ในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปลายทางจำนวนมาก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมปศุสัตว์
กัญชาและกัญชง สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างหลากหลายตั้งแต่รากไปจนถึงเมล็ด โดยสามารถนำไปใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่น อุตสาหกรรมทางการแพทย์ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งทอ หรือการใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เป็นต้น ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา กัญชาและกัญชงของไทยถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งทำให้การวิจัยและพัฒนาในการใช้งานด้านต่าง ๆ นั้นยังมีไม่มาก ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการปลดล็อคทางกฎหมายให้มีการนำพืชทั้งสองมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดในการปลูกหรือการใช้อย่างเสรีอยู่ เช่น กัญชานั้นยังคงไม่มีการเปิดให้ปลูกหรือใช้ในการผลิตยาอย่างเสรีซึ่งยังคงต้องร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการเป็นต้น โดยบทวิเคราะห์นี้ได้รวบรวมการสร้างมูลค่าเพิ่มในหลากหลายรูปแบบของกัญชาและกัญชง