ข่าวสารเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมชีวภาพ

เปลือกทุเรียนมีค่า อย่าทิ้ง เปลี่ยนโฉมใหม่ เป็น “พลาสติกชีวภาพ” สร้างรายได้มหาศาล

การแปรรูปเปลือกทุเรียนเป็นพลาสติกชีวภาพช่วยลดขยะ เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสกัดเซลลูโลสจากเปลือกทุเรียนมาผลิตเป็นคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (CMC) ซึ่งสามารถนำไปขึ้นรูปเป็นแผ่นฟิล์มใช้บรรจุภัณฑ์อาหารได้ ฟิล์มนี้ย่อยสลายได้ใน 24 ชั่วโมง และมีศักยภาพใช้แทนพลาสติกทั่วไปในอนาคต
พลาสติกชีวภาพจากเปลือกทุเรียน: ทางเลือกใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) หรือ พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ (Biodegradable Plastic) คือพลาสติกที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น เปลือกทุเรียน เปลือกข้าวโพด มันสำปะหลัง กากชานอ้อย ฯลฯ โดยวัสดุเหล่านี้สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น จาน แก้วน้ำ กล่อง หรือเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณกนกศักดิ์ ลอยเลิศ นักวิทยาศาสตร์จากกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า พลาสติกทั่วไปที่สังเคราะห์จากปิโตรเคมีไม่สามารถย่อยสลายได้ภายในเวลาสั้น ๆ ต้องใช้เวลานานถึง 100-200 ปี แม้จะมีข้อดีเรื่องความทนทาน แต่ก็สร้างมลพิษสะสมและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต คุณศิริพร เต็งรัง นักวิทยาศาสตร์หัวหน้าคณะวิจัยของกรมวิชาการเกษตร อธิบายว่า พลาสติกชีวภาพสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยใช้เอนไซม์ แบคทีเรีย ความชื้น และอุณหภูมิเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา หรือเกิดจากกระบวนการออกซิเดชัน เช่น การโดนแสงยูวี ความร้อน หรือแรงกล ในปัจจุบัน พลาสติกชีวภาพถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เช่น ฟิล์มคลุมดิน ถุงเพาะกล้าไม้ โฟมกันกระแทก และบรรจุภัณฑ์อาหาร ประเทศไทยมีการบริโภคทุเรียนในปริมาณมาก ทำให้เกิดขยะจากเปลือกทุเรียนจำนวนมาก กรมวิชาการเกษตรจึงนำวัสดุเหลือทิ้งนี้มาศึกษาและพัฒนา โดยพบว่าในกระบวนการทำทุเรียนทอดจากทุเรียนสด 1 ตัน จะได้เปลือกทิ้งถึง 58.60% หรือ 585.60 กิโลกรัม เปลือกทุเรียนมีเซลลูโลสประมาณ 30% ซึ่งเหมาะแก่การนำไปสังเคราะห์เป็น คาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลส (CMC) ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น สิ่งทอ อาหาร ยา สี กาว และเซรามิก ขั้นตอนการแปรรูปเปลือกทุเรียน 1. เตรียมวัตถุดิบ หั่นเปลือกทุเรียนเป็นชิ้นเล็กแล้วอบแห้ง 2. สกัดเซลลูโลส ใช้สารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ 30% 3. ฟอกสี ใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เพื่อลดลิกนิน 4.บดเป็นผง ได้เซลลูโลสบริสุทธิ์สีขาว 5. สังเคราะห์ CMC ทำปฏิกิริยากับกรดคลอโรอะซิติกในสภาวะด่าง 6. ขึ้นรูปเป็นฟิล์ม: CMC ที่ได้สามารถละลายน้ำ มีความบริสุทธิ์สูง (95.63%) และสามารถนำไปขึ้นเป็นแผ่นฟิล์มสำหรับบรรจุภัณฑ์ จากการทดสอบการฝังกลบในดินที่มีความชื้นสูง พบว่า ฟิล์ม CMC จากเปลือกทุเรียนสามารถย่อยสลายได้หมดภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากสามารถละลายน้ำและเข้าสู่กระบวนการไฮโดรไลซีสได้ง่าย มีการทดลองนำฟิล์ม CMC มาใช้เป็นซองบรรจุกาแฟ และพบว่าคุณภาพของผงกาแฟแทบไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อใช้ฟิล์มที่ผสมโพลิเอทิลีนไกลคอน 40% ซึ่งสามารถปิดผนึกได้ด้วยความร้อน และมีคุณสมบัติป้องกันออกซิเจนดี นวัตกรรมการแปรรูปเปลือกทุเรียนเป็นฟิล์มพลาสติกชีวภาพ ไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์ แต่ยังเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ และตอบโจทย์ความต้องการด้านสิ่งแวดล้อมและการค้าที่ใส่ใจในความยั่งยืน ทั้งยังเป็นโอกาสใหม่ในการสร้างรายได้ให้เกษตรกรไทย
khaosod