ข่าวสารเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมชีวภาพ

“พลาสติกชนิดใหม่” ที่สามารถรีไซเคิลและย่อยสลายได้ในน้ำทะเลอย่างสมบูรณ์

นักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น นำทีมโดย ทาคุโซ ไอดะ จาก RIKEN Center for Emergent Matter Science ได้พัฒนาพลาสติกที่มีความแข็งแรง ทนทาน สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย และที่สำคัญสามารถย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ได้ในน้ำทะเซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดมลภาวะไมโครพลาสติกในมหาสมุทร
ทีมวิจัยที่นำโดย ทาคุโซ ไอดะ จาก RIKEN Center for Emergent Matter Science ประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนาพลาสติกชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นทั้งด้านความแข็งแรงและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลาสติกชนิดนี้ไม่เพียงแต่มีความแข็งแรงเทียบเท่าพลาสติกทั่วไป แต่ยังสามารถย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ในน้ำทะเล โดยไม่ก่อให้เกิดไมโครพลาสติก (เศษพลาสติกขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร) ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล พลาสติกชนิดนี้สร้างจากโมโนเมอร์ไอออนิก 2 ชนิด ที่เชื่อมด้วยพันธะไอออนิกแบบกลับได้ ช่วยให้วัสดุมีความแข็งแรงและยืดหยุ่นระหว่างการใช้งาน โดยหนึ่งในสองมอนอเมอร์นั้นคือสารเติมแต่งในอาหารอย่าง โซเดียม เฮกซาเมทต้าฟอสเฟต (Sodium hexametaphosphate) และอีกตัวคือมอนอเมอร์ที่มีไอออนของกัวนิดิเนียม (Guanidinium ion) โดยทั้งสองมอนอเมอร์ สามารถย่อยสลายได้โดยแบคทีเรียและไม่ก่อให้เกิดไมโครพลาสติก พลาสติกชนิดใหม่นี้ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซค์ระหว่างกระบวนการย่อยสลาย คุณสมบัติที่โดดเด่นของพลาสติกนี้คือการย่อยสลายได้รวดเร็ว โดยจะเริ่มย่อยสลายเมื่อสัมผัสกับน้ำทะเล และย่อยสลายได้สมบูรณ์ในดินภายใน 10 วัน เท่านั้น ระหว่างกระบวนการย่อยสลาย พลาสติกจะปลดปล่อยสารอาหาร เช่น ฟอสฟอรัสและไนโตรเจน ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และยังสามารถนำไปขึ้นรูปใหม่ได้ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 120°C และยังมีความแข็งแรงเทียบเท่ากับพลาสติกทั่วไป พลาสติกชนิดใหม่นี้จึงถือเป็นนวัตกรรมที่สำคัญและน่าจับตามองอย่างยิ่ง ด้วยสมบัติที่เทียบเท่าสพลาสติกทั่วไปและยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต
Bioplasticsmagazine