ข่าวสารเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมชีวภาพ

GGC จับมือ PSP พัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ ช่วยอุตฯไทยสู่ความยั่งยืน

GGC จับมือ PSP ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ EnPAT พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืนแห่งอนาคต พร้อมลุยผลิตสู่เชิงพาณิชย์ ใช้วัตถุดิบชีวภาพจากปาล์มน้ำมัน
บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ซึ่งเป็นผู้นำด้านเคมีชีวภาพและบริษัทเรือธงในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมของ GC Group ได้ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับบริษัท พี.เอส.พี. สเปเชียลตี้ส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PSP ผู้นำในโซลูชันน้ำมันหล่อลื่น โดยนายกฤษฎา ประเสริฐสุโข กรรมการผู้จัดการ GGC และนายเสกสรร ครองพาณิชย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PSP ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ EnPAT สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ EnPAT พัฒนาภายใต้แนวคิดความยั่งยืน โดยใช้วัตถุดิบชีวภาพจากปาล์มน้ำมันของไทย เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ตอบสนองความต้องการของตลาดพลังงานหมุนเวียน และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือนี้ยังครอบคลุมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ การขยายกำลังการผลิตสู่ระดับอุตสาหกรรม และการทำงานร่วมกันด้านการตลาดและการจัดจำหน่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับสากล นายกฤษฎากล่าวว่า GGC ได้ร่วมมือกับภาครัฐในโครงการ EnPAT ซึ่งเป็นการพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพจากน้ำมันปาล์มที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมดำเนินการทดสอบภาคสนามเชิงบูรณาการ โดยมีเป้าหมายเพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน โครงการนี้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจใหม่ BCG Model และแนวทาง New S-Curve ด้าน Biochemicals ช่วยเพิ่มมูลค่าให้น้ำมันปาล์มไทย สร้างรายได้ให้เกษตรกร และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ การร่วมพัฒนาน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพจากน้ำมันปาล์มไทยในครั้งนี้ ถือเป็นโครงการสำคัญที่ไม่เพียงส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการนำเข้าและพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ปัจจุบัน PSP กำลังทดสอบการใช้งานน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ EnPAT ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโครงการ EnPAT ซึ่งทีมวิจัยได้ติดตั้งต้นแบบระบบการผลิตน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพที่มีกำลังการผลิตประมาณ 300 ลิตรต่อครั้ง และได้ทำการทดสอบระบบจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว
thansettaki